The Applied Positive Psychology Initiative

จากช่องว่างของการทำงาน สู่การสร้างนวัตกรรม ด้วย ชุดเครื่องมือ GRIs

การฟื้นฟู และการป้องกันเด็ก เยาวชน ที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ (traumas) ถือเป็นงานที่มีความยากเป็นลำดับต้นๆในการทำงานกับเด็ก เยาวชน ที่มากกว่าความเปราะบางที่มาจากช่วงอายุ ยังมีรอยบาดแผลมากมายภายในใจ ที่ต้องอาศัยการทำงานที่มากกว่าการดูแลทางกาย หากแต่ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดของการพัฒนา นวัตกรรม ที่สอดรับกับการทำงานด้านนี้ที่เป็นเครื่องมือ เป็นกิจกรรม ที่ง่ายพอสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้สามารถนำไปใช้กับเด็กได้โดยไม่มีอุปสรรคที่มาจากพื้นความรู้เดิมมากนัก และต้องเป็นกระบวนการที่สามารถนำไปใช้ในช่วงเวลาปกติที่มีการใช้ชีวิตของเด็กในทุก ๆ วัน เพื่อเปลี่ยนให้วันธรรมดาแต่ละวัน กลายเป็นวันที่ขยับวิธีคิด ขยับพลังใจ สู่ความเข้มแข็งของจิตใจต่อไป

 

 

ฐานคิดการออกแบบ

Growth and Resilience Interventions for vulnerable children หรือ ชุดเครื่องมือ GRIs ที่จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาทักษะการรู้คิดสำหรับเด็กฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice: TIJ) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT foundation Thailand) องค์กรการช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ (ประเทศไทย) (Save the Children) และทางทีมเรา บริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จาก สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.) ซึ่งใช้กระบวนการวิจัยผ่านการทดลองร่วมกับน้อง ๆ ที่ผ่านเรื่องราวที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ กว่า 3 เดือน โดยได้ใช้ฐานคิดในการออกแบบเครื่องมือ และกิจกรรมจาก 3 แนวคิดหลักคือ

  1. แนวคิดของการบำบัดความคิดและพฤติกรรมสำหรับผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ (trauma-focused cognitive behavioral therapy: TF-CBT)

  2. แนวคิดการเสริมคุณค่าภายในตนเอง (self-esteem) ผ่านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

  3. กระบวนการเกมมาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ (game-based learning) 

ภายใต้เป้าหมายในการเสริมสร้างวิถีคิดแบบเติบโต (Growth mindset) และการช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นแข็งแกร่งทางจิตใจ (Resilience) ไม่น้อยกว่า 6 ด้าน อาทิ ความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) ความสามารถในการกำกับตัวเอง (self-regulation) ความคล่องแคล่วทางจิตใจ (mental agility) คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง (strengths of character) สายสัมพันธ์ (connection) การมองโลกแบบมีความหวัง (optimism) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้คนได้มีความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตให้มาเป็นพลังหนุนเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจได้ในระยะยาว

 

 

 

GRIs ทำงานอย่างไร

การเสริมสร้าง 6 องค์ประกอบของ Resilience นี้ได้ถูกออกแบบออกมาเป็นหลักสำหรับการทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ผ่าน 25 เครื่องมือ 26 กิจกรรม ซึ่งผู้นำกระบวนการสามารถนำไปประยุกต์ เพิ่ม หรือ ขยายจำนวนครั้งได้ตามความเหมาะสม โดยแต่ละครั้งมีจุดประสงค์ที่นำไปสู่การเสริมสร้างองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่ควรทำโปรแกรมฯ น้อยกว่า 8 ครั้ง เพื่อให้การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

การใช้เครื่องมือ และกิจกรรมของ GRIs กับกลุ่มเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก และ CBT เพื่อให้การสะท้อนคิด และการนำกระบวนการสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้แม้ว่าผู้นำกระบวนการจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาไม่มาก ก็สามารถนำกระบวนการได้ผ่านการทดลองเล่นตามกระบวนการที่สื่อสารไว้ในคู่มือ เพราะการประยุกต์ใช้กระบวนการเกมมาเป็นแกนในการออกแบบกิจกรรม และเครื่องมือ ทำให้การเล่นตามสามารถทำได้ไม่ยาก

 

ก้าวแรกของ GRIs

มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT foundation Thailand) ภายใต้การสนับสนุนของ Ministry of foreign affairs, Netherlands และ Defence for children ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice: TIJ) องค์กรการช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ (ประเทศไทย) (Save the Children) และทางทีมเรา บริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการเสริมสร้างทักษะในการใช้เครื่องมือ GRIs (Growth and Resilience Interventions for vulnerable children Training Program) สำหรับเครือข่ายคนทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเด็ก เยาวชนในกลุ่มต่าง ๆ ของพื้นที่จังหวัดเชียงราย และภาคเหนือ ขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ วิสต้า เชียงราย เป็นครั้งแรก

 

 

ในการอบรมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจฐานคิด และที่มาของโปรแกรมฯ เพื่อส่งเสริมการทำความเข้าใจการใช้ชุดเครื่องมือ GRIs โดยการอบรมครั้งนี้เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมเขียนความคาดหวัง และร่วมทำกิจกรรมทำความรู้จักกันในเชิงบวก จากนั้นจึงพาไปทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย โดยทีมวิทยากรจาก TIJ

หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงทำความเข้าใจฐานคิดและที่มาของโปรแกรมฯ เริ่มจากความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ผ่านงานวิจัย Learned Helplessness ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญของ Martin E.P. Seligman ที่เป็นที่มาของจิตวิทยาเชิงบวก อีกทั้งยังเล่าถึงว่าจิตวิทยาเชิงบวกทำงานอย่างไรกับภาวะทางจิตใจ และหลังจากที่ฟังบรรยาย ผู้เข้าร่วมจะตอบคำถาม

 

“โดยทั่วไป ในหน้างานของเราทำงานกับเด็กที่เป็นแบบกลุ่มไหนมากที่สุด?”

“เคยทำกิจกรรมอะไรกับเด็กในแต่ละกลุ่มที่ทำงานด้วย”

“ใช้เวลากับการทำงานกับกลุ่มเด็กไหน เท่าไหร่บ้าง” 

 

 

ต่อมาเป็นเรื่องความแตกต่างของ จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) คือการมองโลกตามความเป็นจริงอย่างมีความหวัง กับ ความคิดเชิงบวก (Positive Thinking) คือการเลือกมองโลกเฉพาะมุมที่ดี มุมที่มีความสุข และหลังจากพักรับประทานอาหารแล้ว เป็นการบรรยายถึงแนวคิดของการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) ว่าความคิดเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการแสดงออกของอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก โดยความคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์และความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหนึ่งในฐานคิดสำคัญสำหรับชุดเครื่องมือ GRIs นอกจากนี้ยังชวนทำความรู้จักหลุมพรางความคิด เช่น การที่ชอบคิดว่าคนอื่นจะคิดยังไงนะ คิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะตัวเองแน่ ๆ เลย คิดว่าผลที่ฉันได้รับเป็นสาเหตุมาจากคนอื่นแน่ ๆ การมีความคิดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ๆ วนไป และภาวะสิ้นหวัง (helplessness)

 

อีกหนึ่งเรื่องของจิตวิทยาเชิงบวก และเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่นำไปสู่ Resilience คือจุดแข็งเชิงบวก (Character Strengths) โดยผู้เข้าร่วมจะได้ทำความรู้จัก 24 จุดแข็งนี้ผ่านการทำกิจกรรมที่นำเสนอให้รู้จักทีละด้าน และให้จัดลำดับว่าในด้านหนึ่ง ๆ มีจุดแข็งด้านไหนอยู่ในลำดับใด ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทบทวนจุดแข็งของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะชวนให้ผู้เข้าร่วมทำความรู้จักจุดแข็งของท่านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีบางท่านที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ที่มีต่อการพูดถึงจุดแข็งของกันและกัน โดยสะท้อนว่าการที่เราพูดคุยเรื่องจุดแข็งของกันและกันช่วยเพิ่มพลังบวกให้กับบุคคลที่ได้ฟังด้วย

 

 

กิจกรรมก่อนสุดท้ายของวันแรกนั่นก็คือ การเปิดกล่องชุดเครื่องมือ GRIs ก่อนที่จะได้ลองใช้จริงในวันต่อมา ทั้งนี้ จากการสังเกตการณ์เข้าอบรมในวันแรก พบว่าผู้เข้าร่วมตั้งใจเรียนรู้ บันทึกประเด็น มีการแชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนกัน และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นว่าผู้เข้าร่วมให้ความสนใจกับชุดเครื่องมือ GRIs กันเป็นอย่างมาก

 

โดยในวันที่สองของการอบรมฯ ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมจะได้ทดลองใช้งานชุดเครื่องมือ GRIs หลักๆ จำนวน 8 เครื่องมือ โดยแต่ละเครื่องมือผู้เข้าร่วมก็จะผลัดกันเป็นผู้นำกระบวนการ ซึ่งบรรยากาศการทดลองใช้ และเล่นเป็นไปอย่างครึกครื้น ทุกคนตั้งใจทำ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรม และในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกิจกรรม เมื่อมีข้อสงสัยก็ถามอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจโดยทันที รวมถึงคอยให้ feedback โดยสะท้อนผ่าน “I like..” “I wonder..” และ “I wish..” ในแต่ละกระบวนการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุดเครื่องมือให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

 

 

เมื่อการอบรมฯดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายผู้เข้าร่วมมีความต้องการชุดเครื่องมือไปลองใช้กับเด็กในความดูแลเป็นอย่างมาก ทางทีมผู้จัดงานจึงได้มีการมอบชุดเครื่องมือ GRIs (ชุดทดลอง) จำนวน 6 ชุด ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วม เพื่อให้สามารถเริ่มเดินทางสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันที สำหรับ feedback เมื่อลองไปใช้จริงจะเป็นอย่างไร ทางทีมผู้จัดจะคอยติดตามผลความคืบหน้า เพื่อนำมาพัฒนาชุดเครื่องมือนี้ต่อไป สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมที่มาเข้าอบรมเพื่อนำความรู้และชุดเครื่องมือที่ได้ไปใช้ในพื้นที่จริง เพราะการสร้างผลลัพธ์ต่อการฟื้นฟูความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กจริง ๆ นั้นอยู่ที่หน้างานของทุกท่าน ..แล้วเราจะมุ่งไปสู่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพไปด้วยกัน..

 

 


 

เขียนโดย

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ (สมิต) _ Life Education (Thailand) ร่วมด้วย

ชนันญา น้อยสันเทียะ

 

 

 

 

0 responses on "จากช่องว่างของการทำงาน สู่การสร้างนวัตกรรม ด้วย ชุดเครื่องมือ GRIs"

Leave a Message

Your email address will not be published. Required fields are marked *

LIFE EDUCATION (THAILAND) © ALL RIGHTS RESERVE 2019