บันทึกการเดินทาง สู่การสร้างโรงเรียนเชิงบวก ตอนที่ 3
ในครั้งนี้ การเดินทางได้มาบรรจบครบ 1 ปีการศึกษา ที่ได้ร่วมกระบวนการกับคุณครูระดับมัธยมศึกษาทุกท่าน วิถีโรงเรียนเชิงบวกถูกกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันของคุณครูเรื่อย ๆ ผ่านการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง (Character strength) การศึกษาเชิงบวก (Positive education) อารมณ์เชิงบวก (Positive emotion) วิถีคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และอื่น ๆ
พลังสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นโรงเรียนเชิงบวก (Positive school) นั่นคือ คุณครูและบุคลากรในโรงเรียน การทำงานร่วมกันที่ผ่านมาได้เสริมสร้างให้คุณครูมีความเข้าใจและแนวทางในการดูแลนักเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเส้นทางที่ได้รับความร่วมมือที่ดีมาก
การพบกันในครั้งนี้ เต็มไปด้วยพลังจากคุณครูทุกท่าน กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการทวนความรู้ความเข้าใจที่ได้เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) และสรุปประเด็นสำคัญจากการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community-PLC) ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยทำให้เห็นถึงประเด็นร่วมของคุณครูแต่ละท่าน ที่อาจจะเคยประสบปัญหาในการดูแลนักเรียนที่คล้ายกันหรือต่างกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายมุมมองให้เจอวิธีการดูแลนักเรียนที่หลากหลายมากขึ้น และปรับมุมมองการดูแลนักเรียนไปในแนวทางของโรงเรียนเชิงบวก (Positive school) จากพื้นฐานความรักความเมตตาต่อนักเรียนที่คุณครูมีอยู่แล้ว ปรับรูปแบบการลงโทษเป็นการพูดคุยและช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปในทางที่ดี มีนักเรียนที่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ จากคำแนะนำและความช่วยเหลือจากคุณครู ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
กระบวนการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่คุณครูสามารถสร้างเครื่องมือหรือออกแบบกิจกรรมที่จะเป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับนักเรียนเรียนเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ให้มีความเข้าใจง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยคุณครูจะได้เรียนรู้ตัวอย่างกิจกรรมและวิธีการตั้งคำถาม ในการนำไปสู่การเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง (Character strength) อารมณ์เชิงบวก (Positive Emotion) และหลักการ PERMA ได้ อาทิเช่น การออกแบบและตั้งคำถามในใบงานกิจกรรมต่าง ๆ การใช้ภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง (Character strength) การออกแบบเกม (Board game) เพื่อสื่อสารเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นและเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น
นอกจากนี้ การสื่อสารกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คุณครูจึงได้เรียนรู้เรื่องรูปแบบการตอบสนองในการสื่อสาร (Active Constructive Responding) และทำความเข้าใจรูปแบบการตอบสนองในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเจอได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะฝึกการตอบสนองของคุณครูให้ไม่ไปกระทบต่อความรู้สึกของนักเรียนและเพื่อนร่วมงาน และฝึกทักษะการฟังอย่างเข้าใจเชิงลึก (Empathic Listening) เพื่อให้คุณครูได้มีทักษะเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการทำงานกับนักเรียน
ช่วงท้ายของกระบวนการ คุณครูได้เรียนรู้กระบวนการเป็นพี่เลี้ยงให้กับคุณครูระดับประถมศึกษาและอนุบาลผ่านหลักการ GROW model ซึ่งทำให้คุณครูได้หลักคิดและวิธีการเบื้องต้นในการให้คำปรึกษากับคุณครูระดับประถมศึกษาและอนุบาลในการสร้างห้องเรียนเชิงบวกของตนเอง และได้คุณครูอาสาสมัครเป็นแกนนำที่พร้อมจะถ่ายทอดหลักการจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ที่ได้เรียนรู้ร่วมกันตลอดทั้งปี เพื่อให้แนวคิดโรงเรียนเชิงบวก (Positive school) ได้ขยายไปทั้งโรงเรียน
0 responses on "บันทึกการเดินทาง สู่การสร้างโรงเรียนเชิงบวก ตอนที่ 3"