
“การประจานเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย…เมื่อมนุษย์ถูกทำให้ยางอายหายไป การกระทำความผิดก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับพวกเขา”
หลายครั้งการทำงานในห้องเรียน เพื่อสร้างความตระหนักในห่วงโซ่ของความเสียหายในการกระทำ ตั้งแต่เรื่องความรุนแรง การเสพติดเชิงพฤติกรรมรูปแบบต่างๆ ถูกถ่ายทอด ยัดเยียดในรูปแบบของการส่งสารด้วย คำที่แข็งแรง มาตรฐานทางจริยธรรมที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ขยับตัว ให้เรียนรู้ ให้ได้มีพื้นที่ก้าวพลาด พื้นที่การขอโทษ พื้นที่การให้อภัยที่จริงใจ
การจัดกระบวนการวิชาชีวิต ณ โรงเรียนวัดคู้บอน ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (ชนะใจ) เพื่อค้นหานวัตกรรมที่เข้ารูป เข้ารอยกับการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ…ในวันที่สองของการจัดกระบวนการ พวกเราได้หยิบยกเอากรณีศึกษาที่ทรงพลังที่เคยเกิดขึ้น “จริง” ที่บ้านกาญจนาภิเษก มาใช้เป็นวัตถุดิบในการพูดคุย ค้นหาปัจจัยและห่วงโซ่ความเสียหาย เพราะห่วงโซ่ความเสียหาย…คือ สิ่งที่เด็กควรรู้ แต่ควรรู้จากความจริง ไม่ใช่ ‘คำขู่’
เมื่อวิชาชีวิต ได้แปรเปลี่ยนพื้นที่กระดานอันศักดิ์สิทธิ ในห้องเรียน ให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเขียนความรู้สึก ของเด็กๆ
เมื่อวิชาชีวิต ได้แปรเปลี่ยนพื้นที่กระดานอันศักดิ์สิทธิ ในห้องเรียน ให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเขียนความรู้สึก ของเด็กๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า ไม่มีคำตอบใดเป็นคำตอบที่ผิด…ต้นทุนหรือสิ่งที่เด็กได้เคยเรียนรู้เกี่ยวกับด้านมืดของสังคมที่มีอยู่ไม่น้อย ได้ถูกถ่ายทอด ทำความเข้าใจใหม่ พวกเขาได้มองความจริงในด้านมืดของสังคมเหล่านั้นด้วยความเข้าใจ ด้วยความละเอียด เพื่อแปรเปลี่ยนให้กลายมาเป็นวัคซีน เป็นภูมิคุ้มกัน เป็นความเข้มแข็งให้กับดุลยพินิจที่เคยถูกทำให้อ่อนแอภายใต้การเรียนการสอน ความห่วงใย ความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ ที่คิดแทน ตัดสินใจแทน
ความรู้สึกบางส่วนจากน้องโรงเรียนวัดคู้บอน… “รู้สึกว่าการให้อภัย มันจะทำให้สังคมยอมรับเรา และทำให้เราเป็นคนดีได้ และอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกเพราะมันสนุก ทำให้จิตใจแจ่มใสได้”
“รู้สึกสนุกสนาน และรู้การให้อภัย และการขอโทษ การขอโทษไม่ใช่คนขี้ขลาด การใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดี ทางออกที่ดีคือการยุติโดยไม่ใช้ความรุนแรง และให้อภัยซึ่งกันและกัน และการไตร่ตรองก่อนทำสิ่งต่างๆ”
ในทุกเย็นหลังจบกิจกรรม ทีมวิจัย และทีมป้ามล กับน้องๆบ้านกาญจนาภิเษก และคุณครูที่โรงเรียนวัดคู้บอน จะร่วมกันถอดบทเรียน เรียนรู้ ปรับปรุงแนวทาง แก้ไขข้อผิดพลาด เสริมพลังให้กันและกัน ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งของป้ามล ที่ทำให้ผมและทีม เข้าใจได้ถึงเงื่อนไขของความสำเร็จในการทำงานของบ้านกาญจนาภิเษกเลย ป้ามลบอกพวกเราว่า
“วันนี้เพิ่งเป็นวันที่สองของกิจกรรมนี้นะ ไม่ว่าเราจะเหนื่อยสักเพียงใด เราก็จะไม่ลดระดับการปฏิบัติการของเรานะ”
ปล วันนี้มีการเฉลยถึงประสบการณ์ที่ผิดพลาดของพี่ๆบ้านกาญจนาภิเษก แต่ละคนด้วยปากของพี่ๆเอง ตามความสมัครใจ เพื่อใช้เป็นวัคซีนสำคัญในการอธิบายถึงห่วงโซ่ความเสียหาย เด็กแต่ละคนให้ความสนใจ อยากรู้ถึงประสบการณ์ของพี่แต่ละคน…มีเด็กคนหนึ่ง เกิดหันไปถามป้ามลขึ้นมาว่า
“ป้าๆ แล้วป้าโดนคดีอะไรมา” เสียงหัวเราะของป้ามลก็ดังขึ้นพร้อมคำตอบที่น่าอมยิ้ม “ป้าโดนคดีขโมยหัวใจมาลูก”
0 responses on "การเดินทางของวิชาชีวิต สู่โรงเรียนวัดคู้บอน ตอนที่ 3 : ใครเดินทางไปกับเราบ้าง "