The Applied Positive Psychology Initiative

เสริมพลังครอบครัว สไตล์ ป้ามล ทิชา ณ นคร

“เมื่อไหร่ผมจะได้เข้า Empower ครับป้า เพื่อนมันบอก – มันมีข่าวลือในบ้านกาญจนาฯ ว่าถ้ามึงได้เข้าห้อง Empower พ่อแม่จะรักมึงมากขึ้น”

 

เพราะเหตุใด หลาย ๆ เสียงจากเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ถึงอยากเข้ากระบวนการ Empower กระบวนการนี้มีที่มาจากอะไร แล้วกระบวนการมีวิธีทำอย่างไร วันนี้ ป้ามล ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้มาแบ่งปันเรื่องราว ก่อนจะออกมาเป็น..ชุดเครื่องมือ Empower ตลอดจนข้อแนะนำสำหรับคนทำงานกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว

 

            เรื่องราวก่อนจะออกมาเป็น..ชุดเครื่องมือ Empower

ย้อนกลับไป..ในช่วงเริ่มต้นการทำงานกับเยาวชนที่ก้าวพลาดในบ้านกาญจนาภิเษก ป้าได้ออกแบบให้เยาวชนเขียนบันทึกก่อนนอน วิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์หนัง ถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นร้อนในสังคมหรือเรียกว่า “เรียนวิชาชีวิต” 50% ส่วน 25% เรียนหนังสือและอีก 25% เรียนวิชาชีพ ซึ่งพอได้อ่านสิ่งที่เยาวชนเขาเขียนก็เห็นคำสำคัญอยู่ในงานเขียนของเยาวชนเยอะมาก โดยเฉพาะครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนที่ทำให้เยาวชนต้องกระโดดออกมา เช่น
“บ้านผมพ่อแม่ทะเลาะกันมากเลย ผมก็เลยอยู่บ้านไม่ได้”
“บ้านผมไม่เคยมีกิจกรรมอะไรร่วมกันเลย เราไม่เคยไปไหนมาไหนกันเลย จำไม่ได้แล้วว่ากินข้าวครั้งสุดท้ายกับพ่อแม่เมื่อไหร่”
การวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์หนัง ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในประเด็นร้อนในสังคมทำให้เยาวชนเห็นความเชื่อมโยง เห็นห่วงโซ่ที่เกาะเกี่ยวกันชัดขึ้น ซึ่งป้าก็ได้บันทึกงานเขียนที่น่าสนใจเก็บไว้ เมื่อจับข้อมูลมาเรียงดูก็ พบว่ามันคือ “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็ก ๆ ออกจากบ้าน” และเมื่อเก็บข้อมูลมากขึ้น ภาพก็ยิ่งชัดขึ้น นอกจากนั้นก็มีข้อมูลที่พูดถึงเพื่อนแบบที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น
“เพื่อนเหมือน 7 – 11 (ให้เราได้ 24 ชั่วโมง)”
“พอมันบอกผมว่า…ผมเจ๋ง…ผมรู้สึกเหมือนฟูขึ้นมาเลย”
“ผมเดินออกมาจากบ้านที่คนในบ้านไม่ได้ปลื้มผมเลย..แต่เมื่อผมเดินเข้าไปในหมู่เพื่อนเนี่ย..มันปลื้มผมมากเลย”
บันทึกในมุมนี้ของเยาวชนทำให้มองเห็น “ปัจจัยที่ดึงดูดนอกบ้าน” และ 2 ปัจจัยได้ทำให้ความเปราะบางเยาวชนบางคน แตกหัก พังทลาย ในการทำกลุ่ม Empower กับพ่อแม่ครั้งแรกๆ ทีมงานเริ่มจากการเขียน keyword ลงกระดาษ A4 ธรรมดาด้วยลายมือ เมื่อผ่านการปฏิบัติก็เริ่มมองเห็นปัญหา – อุปสรรค จึงพัฒนาเครื่องมือโดยเปลี่ยนไปใช้กระดาษที่แข็งขึ้น มีน้ำหนัก จากนั้นพัฒนาเป็นกระดาษสี พิมพ์ และเคลือบพลาสติกให้แข็งแรง จนกระทั่งทีม Life Education TH มาดูงานและช่วยพัฒนาเป็นชุดเครื่องมือ Empower โดยการวาดภาพการ์ตูนเพิ่มจากที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียว ตัวการ์ดเปลี่ยนเป็นกระดาษแข็ง จับได้ถนัดขึ้น สีสัน กล่องสวยงามน่าใช้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน สำหรับตัวเนื้อหาสาระเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ในคนทำงานที่ร่วมเติบโตไปพร้อมๆ กัน และพร้อมแบ่งปันเพื่อไปเติบโตในที่อื่นตามเงื่อนไขที่ต่างกัน

 

            ที่มาของคำว่า “ปัจจัยผลักไสไล่ส่ง” กับ “ปัจจัยดึงดูดจากนอกบ้าน”

พูดได้เต็มปากว่าต้นทุน Empower ของบ้านกาญจนาภิเษกมาจากการอ่านบันทึกของเยาวชน เช่น “บ้านผมร้อนจัง” เยาวชนเขาอาจจะพูดคำเหล่านั้นด้วยความรู้สึกที่ธรรมดา แต่เมื่อเราได้ยินกลับรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก จึงหยิบมาเป็นหนึ่งในคำสำคัญ เมื่อนำคำเหล่านั้นมาเรียง มาศึกษาก็พบว่าเด็กไม่มีความสุขกับลักษณะบ้านแบบนั้น ทำให้เด็กไม่อยากอยู่บ้าน แต่จะใช้ประเด็น “เด็กไม่มีความสุข” ก็เป็นภาษาที่ไม่มีมิติ เมื่อแก้ไปแก้มาและลงตัวที่คำว่า “ปัจจัยผลักไสไล่ส่ง” อีกหนึ่งคำที่เด้งขึ้นมาระหว่างทบทวน แก้ไขคือคำว่า “ปัจจัยรอดึงดูดนอกบ้าน” ซึ่งเป็นคู่คำที่สื่อได้ค่อนข้างชัดเจน

 

            วิธีการใช้ชุดเครื่องมือ Empower

           การเตรียมตัวสำหรับครอบครัว อย่างที่ทราบกันว่าแต่ละครอบครัวก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไป บางครอบครัวเมื่อลูกหยิบการ์ดขึ้นมาหนึ่งใบแล้วเล่าว่า “ผมไม่อยากให้มีการ์ดใบนี้ อยู่ในบ้าน” เช่น เคยมีครอบครัวหนึ่ง ลูกเลือกการ์ดเปรียบเทียบโดยอธิบายความรู้สึกว่าทุกครั้งที่พ่อแม่เปรียบเทียบผมกับคนอื่น ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีแรงปีนขึ้นที่สูง แต่จะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ เมื่อถามว่าการ์ดใบนี้มาจากใคร คำตอบคือ จากแม่ ส่วนคำอธิบายจากแม่คือ อยากให้ลูกเห็นตัวอย่างดีๆ ได้แรงบันดาลใจและตกใจมากเมื่อรู้ว่าลูกคิดคนละแบบพ่อแม่ บางคนก็อินไปกับลูก ยอมถอยอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือบางคนเมื่อรู้ว่าระเบิดเวลาอยู่ที่ไหนก็พร้อมที่จะถอดชนวนด้วยกัน แต่ไม่ได้แปลว่าทุกครอบครัวจะเป็นเหมือนกัน บางครอบครัวก็จะมีกลไกการปกป้องตัวเอง ครอบครัวประเภทนี้แค่ลูกหยิบการ์ดใบหนึ่งขึ้นมา ก็จะต้านทันที จึงทำให้ทีมงานต้องถอยกลับไปคิดว่าต้องมีกิจกรรมก่อนเลือกการ์ด เพื่อให้ความคิดของพ่อแม่อ่อนตัวลง จากนั้นค่อยก่อรูปก่อร่างขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
           พัฒนาการต่อมาจึงเริ่มด้วยกิจกรรมแรก คือ “ก่อน 18” (ที่มา “มูลนิธิแพธทูเฮลล์”) โดยการตั้งคำถามแล้วโยนลงไปในวงพ่อแม่ว่า “เมื่อลูกอายุ 18 พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนแบบไหน /ทำอะไร” จากที่เคยทำมาทุกครั้งพบว่าพ่อแม่ต่างก็ลืมไปว่าลูกๆ เคยก่อคดีจนตำรวจจับ จนมาติดอยู่สถานควบคุม คำตอบที่ออกมาคืออยากให้ลูกเป็นข้าราชการ หมอ ทหาร และเป็นคนดีนี่ก็ไม่เคยตกหล่นเลย โดยสรุป คือ อยากให้ลูกเป็นเหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไป ที่ยังไม่เคยก่อคดี ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร ทีมงานก็ปล่อยให้พ่อแม่คิดอย่างอิสระ ในทุกรุ่นของการทำ workshop คำตอบก็คล้าย ๆ กันจากนั้นเราก็ลองตั้งคำถามกลับไปว่า “ตอนที่พ่อแม่อายุ 18 พ่อแม่เป็นอะไรหรือทำอะไร” เมื่อถามแบบนี้ อย่างที่บอกข้างต้นว่าพ่อแม่ก็มีหลายแบบ มีหลายเฉดสี มีหลายกลุ่ม บางคนก็ตอบกลับมาเลยว่า “ตอนนั้นติดสถานพินิจ” บางคนก็บอกว่า “ท้องแล้วตอนนั้น” แต่บางคนก็จะบอกว่า “ผมเป็นคนที่ทำงานทำการ ทำมาหากินตลอดนะครับ ผมไม่เคยเกเรเลย” ถ้าแนวโน้มของ workshop ครั้งนั้นพ่อแม่ตอบมาในนามของความดีเยอะหรือในสัดส่วนที่เป็นคนดีกันหมด ก็จะท้าทายมากว่าจะขยี้อย่างไรให้พ่อแม่เห็นความเป็นมนุษย์ที่มีขาว – เทา – ดำ ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่หรือสถานะอะไร จากการทำ Empower หลาย ๆ ครั้งก็เริ่มได้รูปแบบของคำถามและการแลกเปลี่ยน อย่างเช่นกรณีที่พ่อแม่คิดว่าเป็นคนดี ไม่เคยเทา ไม่เคยดำก็จะถามกลับไปว่า “ตอนนั้น พ่อแม่เกิดในปี พ.ศ. เท่าไหร่ เทคโนโลยีหรือว่าระบบนิเวศน์ทางสังคมของพ่อแม่เป็นไงบ้าง” พ่อแม่บางคนเริ่มเข้าใจ – ยอมรับและบอกว่า “ใช่ ! สมัยนั้นมันก็ยังไม่มีโน่น นี่ นั่น” แต่พ่อแม่บางคนก็จะมีแรงต้านค่อนข้างสูง และมองไม่ค่อยเห็นความต่างของยุคเขากับยุคของลูกซึ่งก็ต้องฉายภาพให้พ่อแม่เห็นว่า “เด็กเติบโตภายใต้เงื่อนไขของยุคสมัย ของเทคโนโลยี อย่างเด็กยุคนี้เพียงแค่เปิดโทรศัพท์มือถือ พิมพ์บางคำ โทรศัพท์มือถือก็จะตอบสนองทุกอย่าง พ่อแม่คิดว่าเด็กเขาจะอยู่ง่ายหรือยากภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบที่พวกเขาพบเจอและถ้าคนรอบตัวเขา พ่อแม่ ครู โรงเรียน สังคม ไม่เติมทุนอะไรให้กับเขา เขาจะทำอย่างไรและถ้าพ่อเป็นลูกพ่อตอนนี้คิดว่าจะรอดไหม”

 

“ในปี พ.ศ. ที่ป้าอายุ 15 ปี ป้าก็ยังไม่มีหนังดูสมัยนั้น ทุกวันที่ป้าเฝ้ารอคอยในชุมชนเล็ก ๆ ของเรา ก็คือรอคอยรถหนังขายยากางแปลง พอเขามาประกาศในหมู่บ้านนะว่ารถหนังขายยาจะมาแล้วเขาจะฉายหนัง พวกเราตื่นเต้นดีใจกันน่าดูเลย แล้วก็เตรียมตัว จะใส่เสื้อผ้าแบบไหน ธรรมดาเวลาหนังจะฉายเขาจะกางจอตรงไหน แล้วตรงไหนที่เด็กผู้ชายนั่ง แล้วเราควรจะเลือกนั่งตรงไหนดีที่พิกัดมันพอดีกันเนอะ ป้าก็จะบอกกับพ่อแม่ว่า 2495 บวก 15 ปี แรดสุดก็ได้ประมาณนั้น ดังนั้น ป้ากล้าบอกเลยว่าถ้าป้าเป็นสาววัยรุ่นในยุคนี้ป้าไม่รอดนะคะ ถ้าครอบครัวไม่ปรับอะไรเลย (ป้ามล) 
บางครั้งก็ต้องใช้เวลาขยี้ความคิดกันอยู่พอสมควร เมื่อความคิดของพ่อแม่อ่อนตัวลง ก็ค่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่พ่อแม่เขียนมาทั้งหมดที่อยากให้ลูกเป็นคนดีหรือเป็นนู่นนี่นั่น ไม่มีอะไรผิด พ่อแม่ทั้งโลกก็คิดแบบนี้ แต่นั่นคือเป็นเป้าหมาย และการคิดแค่เป้าหมายไม่พอ จำเป็นต้องอาศัยวิธีการด้วย และสิ่งที่ขาดไปทั้งหมดของพ่อแม่ก็คือวิธีการนั่นเอง ในการพูดคุยตรงนี้จะต้องเคลียร์ให้ชัด จนกระทั่งพ่อแม่ค่อย ๆ ยอมรับ โดยกิจกรรมช่วงนี้ไม่ให้ลูกๆ ของเขาเข้ามาเน้นเฉพาะพ่อแม่เท่านั้นเพื่อไม่ให้ลูกๆ ของเขารู้สึกว่าทำไมพ่อแม่คิดแบบนั้น ที่สำคัญเขาก็เป็นไม่ได้อย่างที่พ่อแม่ต้องการซึ่งจะทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจหรือรู้สึกท้อได้
            กิจกรรมที่ (2) “เบิร์ดกับก้อง” (ที่มา “มูลนิธิแพธทูเฮลล์”) ในเชิงสัญลักษณ์เบิร์ดคือ Bad boy และก้อง คือ Good boy โดยออกแบบให้พ่อแม่บางกลุ่มได้ข้อมูลของก้อง บางกลุ่มได้ข้อมูลของเบิร์ด จากการสังเกตพ่อแม่ที่ได้ข้อมูลของก้องมักจะยิ้มแย้ม เนื่องจากก้องเป็นเด็กรัฐศาสตร์ อยากเป็นนักการทูต มนุษย์สัมพันธ์ดี มีรุ่นน้องชอบมาขอคำปรึกษาและอีกหลายดีที่ก้องมี ซึ่งพ่อแม่จะรู้สึกปลื้ม และสบายใจ แต่ในทางกลับกันพ่อแม่ที่ได้ข้อมูลของเบิร์ดที่มีประวัติว่าเคยใช้สารเสพติด มีมอเตอร์ไซด์ส่วนตัว มีแฟน มีเพศสัมพันธ์กับแฟนตั้งแต่ ม.ต้น ไม่ถูกกับพ่อเลี้ยงและอีกหลายไม่ดีพ่อแม่จะรู้สึกเหนื่อยประมาณว่าก็มีแล้วคนนึงยังจะมาเจออีกเหรอ อารมณ์พ่อแม่ก็ประมาณนี้ หลังจากพ่อแม่ได้ศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเสร็จแล้วก็จะเปิดคำถามให้พ่อแม่ช่วยกันคิด เช่น “เป็นห่วงอะไรเบิร์ด/ก้อง อนาคตของเบิร์ด/ก้องจะเป็นเช่นใด” จากคำตอบของพ่อแม่ทำให้เห็นความคิดเชิงเดี่ยวค่อนข้างชัดเจน “นี่คือขาว นี่คือดำ” ทุกคนจะแยกดำ แยกขาวโดยอัตโนมัติทันที จึงต้องถามกลับไปว่า “เจ้าก้องเนี่ย good boy ตลอด 24 ชั่วโมงไหม ตลอดอาทิตย์ไหม ตลอดเดือน ตลอดปีใช่มั้ย ?” พ่อแม่ก็จะงง ๆ และคิดตามว่าคนอะไรจะดีตลอดเวลา แล้ว “เบิร์ดล่ะ จะ bad boy จะเป็นเด็กดำ – เด็กมืดตลอดไหม” ก็ไม่ใช่อีก คนอะไรจะเลวทั้งเดือน – ทั้งปี ข้อสรุปในกิจกรรมที่ 2 ก็คือเบิร์ดกับก้องต่างก็มีความเป็นดำ ขาว เทาเหมือนกัน ไม่มีมนุษย์คนใดจะขาวตลอดหรือเป็นคนดีตลอด ต้องมีดำบ้าง เทาบ้าง ขาวบ้าง แต่ความสำคัญอยู่ที่คนรอบตัวเบิร์ด – ก้องไม่ว่าพ่อแม่ หรือครู จะทำอย่างไรในนาทีที่เขากำลังขาว นาทีที่เขากำลังเป็นบวก หรือทำอย่างไรกับนาทีที่เขากำลังเป็นลบหรือดำสนิท ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น
“เราก็เบื่อลูกเราเนอะที่กลับจากทำงานเหนื่อยๆ ถึงบ้านก็เจอลูกนั่งเล่นเกมที่เดิม เวลาเดิม เราก็จะบ่น ๆ ๆ ๆ เข้าบ้านวางของ วางถุงอาหาร เราก็บ่น แล้ววันหนึ่งลูกของเราก็รู้สึกว่าได้ฟังเสียงบ่นมาเยอะแล้วก็อยากจะ surprise เย็นวันต่อมาเขาก็เลยนั่งเสนอหน้าทำการบ้าน ทำอะไรที่มันเป็นบวก ๆ รอให้เรามาเห็น แล้วทันทีที่เราเห็นเราก็จะแว๊ดใส่เหมือนเดิมแถมด้วยการประชดประชัน นี่จะทำให้ฉันตายใจสักกี่วัน พรุ่งนี้ก็เหมือนเดิมใช่มั้ย แทนที่บอกลูกว่า…ดีจังเลยลูก ขอบคุณนะ แบบนี้แม่หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลย”
พ่อแม่จะเริ่มเห็นภาพว่านาทีที่ลูกเป็นบวก ถ้าพ่อแม่ใส่บวกให้ไม่เป็นแถมยังใส่ลบไปอีก นาทีที่ลูกดำก็ดำใส่เขา น่าจะผิดพลาด คลาดเคลื่อน ดังนั้นประเด็นสำคัญมากๆ จึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับความเป็นเทา ดำ ขาวซึ่งสำคัญกว่าที่จะบอกว่าเขาจะดำตลอดไป หรือเขาจะขาวตลอดไป การเคลียร์ concept เพื่อให้ความคิดของพ่อแม่อ่อนตัวลงก่อนขึ้นรูปใหม่และไปต่อมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของพ่อแม่
          มาถึงกิจกรรมที่ (3) ก่อนจะเข้าสู่การใช้การ์ด คือ “ดูหนัง” สำหรับหนังที่ใช้มีความยาวประมาณ 25 นาที ชื่อก่อน 18 ตอน “ทางแยกของบี” เป็นเรื่องราวของครอบครัวที่พอมีฐานะ มี 3 คน พ่อแม่ลูก ไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ แต่ถึงที่สุดลูกชายในบ้านหลังนี้ไปก่อคดีฆ่า สร้างจากเรื่องจริงของเยาวชนที่ก้าวพลาด หลังจากดูหนังจบก็ให้พ่อแม่ลูก 3 ครอบครัว เข้ากลุ่มและช่วยกันหาคำตอบ “(1) อะไรเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกชายในหนังออกจากบ้านไปก่อคดี (2) อะไรที่เป็นปัจจัยดึงดูดที่อยู่นอกบ้าน (3) ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ใครต้องแก้ไขอะไร ตรงไหน” จากหนังทุกคนจะเริ่มคุ้นเคยคำว่า “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งและปัจจัยดึงดูด” เมื่อเข้าสู่กิจกรรมการใช้การ์ด Empower ก็ง่ายขึ้น
            การเตรียมตัวเยาวชน ในบ้านกาญจนาภิเษกเพื่อเข้ากลุ่ม Empower ข้อดีอยู่ตรงที่เยาวชนจะมีการคุยกันในเรื่องการเข้า Empower สังเกตได้จากเยาวชนบางคนเพิ่งเข้ามาได้ไม่กี่เดือนจะเข้ามาบอกว่า “เมื่อไหร่ผมจะได้เข้า Empower ครับ” ซึ่งยังไม่ถึงคิวของเขา เพราะในปีนึงเราจัด 6-7 รุ่น ก็ต้องมี priority มีการจัดลำดับ แต่เยาวชน บางคนก็จะเดินเข้ามาตะแหง่ว ๆ “ครั้งนี้ผมจะได้เข้า Empower ไหมครับ” พอได้ยินบ่อยครั้งขึ้น จากเยาวชนหลายคน ก็เลยหาคำตอบและทราบว่า “เพื่อนมันบอก – มันมีข่าวลือในบ้านกาญจนาฯ ว่าถ้ามึงได้เข้าห้อง Empower พ่อแม่จะรักมึงมากขึ้น” คือพวกเขาอยากปลดล็อคอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แถมยังเชื่อว่ากระบวนการ Empower จะช่วยได้ พวกเขาเลยอยากทำกิจกรรม Empower ดังนั้นพอถึงคิวที่ได้ทำจริง เขาตั้งอกตั้งใจกันมาก เล็งการ์ดไว้เลย เมื่อถึงเวลาอธิบายการ์ดที่เป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่ง ทุกคนสามารถลงรายละเอียดได้เพราะเป็นประสบการณ์ของเขาจริง ๆ
“เยาวชนทุกคนอยากได้ความเข้าใจจากพ่อแม่ แต่เขาอยู่ภายใต้ครอบครัวที่ความเข้าใจต่อเขาคลาดเคลื่อน เขาก็เหนื่อยมากนะ และเขาก็ไม่มีความสามารถในการอธิบายหรือเจรจาต่อรอง”
        
            การเตรียมตัวในการใช้ชุดเครื่องมือ Empower พบว่าจุดที่ยากที่สุดคือ..ถ้าเราไม่ได้ทำงานกับพ่อแม่ กับเยาวชนล่วงหน้ามาก่อน ไม่ได้สร้างความคุ้นเคยใดๆ อยู่ ๆ เราเป็นวิทยากรที่ลอยเข้าไปในห้องนั้นเลยน่าจะยาก ถ้าเราสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์อะไรบางอย่างเอาไว้ก่อนจะช่วยทำให้ง่ายขึ้น อีกสิ่งหนึ่งคือต้องยอมรับว่าพ่อแม่จำนวนมหาศาล เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ในห้อง workshop ปีชาติ เขาจะเข้ามาสักครั้งหนึ่ง ดังนั้นเราต้องออกแบบไม่ให้ความรู้เดิม (ที่อาจไม่มีหรือมี) เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ความรู้ใหม่
“ป้าคิดว่าที่บ้านกาญจนาภิเษกประสบความสำเร็จทุกครั้งของการทำ Empower เป็นเพราะว่าเราทำงานในเชิงต้นทุนทั้งกับเยาวชนและพ่อแม่ไว้เยอะ ถ้าเราไปทำที่อื่น ไปเป็นวิทยากรตามคำเชิญ โดยที่เราไม่ได้มีต้นทุนอะไรกับพวกเขา เราน่าจะไม่ได้คำตอบหรือเกิดพลังอะไรขนาดนี้”
ดังนั้นคนที่จะทำ Empower เช่น ครูที่ทำงานกับเด็กอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่มากพอ เพราะว่าสามารถสร้างทุนความสัมพันธ์กับเด็กให้ดี – ให้เพิ่มขึ้นได้รวมถึงมีโอกาสรู้จักพ่อแม่เด็ก ซึ่งอาจทำให้เห็นช่องว่างอะไรบางอย่างสำหรับเก็บไว้เป็นต้นทุนในการสื่อสารกับพ่อแม่กรณีที่กลไกปกป้องตัวเองของพ่อแม่แข็งแรง ฉะนั้นไม่ใช่อยู่ ๆ จะกระโจนเข้าไปทำเลย ควรมีต้นทุนระดับหนึ่งและจะได้ช่วยให้เด็กคนหนึ่งได้พ่อแม่คืนมาและพ่อแม่ก็ได้ลูกคืนมาด้วยเช่นกัน
“ทุกเครื่องมือไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว การนำกิจกรรมแบบโดด ๆ มาวางเพียงกิจกรรมเดียวแล้วหวังจะตอบโจทย์ทุกอย่างไม่น่าจะได้นะ”

 

            ผลลัพธ์ การประเมิน และการติดตามผล ของกระบวนการ Empower

            ถ้าเป็นของบ้านกาญจนาฯ พวกเราจะดูผลลัพธ์หลังจากทำกิจกรรม ถ้าสมาชิกในครอบครัวที่เข้า Empower ยังเหมือนเดิม ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าการตัดสินใจเลือกการ์ด หรือว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นใช่ความเป็นจริงไหม หรือพ่อแม่กำลังใช้กลไกป้องกันตัวแบบไหน แต่ก็ไม่ค่อยเจอเรื่องแบบนี้ ตามที่ได้บอกไปข้างต้นว่า..ลูกชายทุกบ้านตั้งใจที่จะเข้ากลุ่ม Empower อยู่แล้ว และยังทำให้พ่อแม่ของเขารู้สึกจริงจังไปด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ในบ้านกาญจนาภิเษก คิดว่าก็ต้องวัดที่ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ เพราะ Empower เป็นกระบวนการที่ต้องการกู้ความเข้าใจ – ความสัมพันธ์คืนมา และในส่วนของบ้านกาญจนาภิเษก เมื่อเยาวชนเลือกการ์ดเสร็จ ที่ปรึกษาในบ้านกาญจนาภิเษกทุกคนจะต้องรู้ด้วยว่าเยาวชนในความดูแลของตนเลือกการ์ดใบไหน ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วจบเลย ผู้เกี่ยวข้องต้องรู้ว่าจะติดตามผลอย่างไร และสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือเยาวชนหรือพ่อแม่ที่ขอคำปรึกษาได้ด้วยและจากการสังเกตพ่อแม่จะไม่ปรึกษาแบบฟุ้ง ๆ เพราะเมื่อเยาวชนเลือกการ์ดใบใดใบหนึ่งแล้ว ทำให้พ่อแม่เห็นโฟกัสชัดเจนว่าครอบครัวของเราปัญหาอยู่ที่ไหน ถึงแม้จะไม่ได้ถูกแก้ทันที แต่ทุกคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ที่ไหน
“การเลือกการ์ดไม่ใช่จุดจบว่าทุกอย่างจะจบหรือคลี่คลายคล้ายกับการพบระเบิดเวลาไม่ได้แปลว่าระเบิดจะไม่ระเบิด ถ้าเราไม่ช่วยกันถอดชนวนระเบิดเวลานั้นด้วยกัน”
กรณีตัวอย่างหนุ่มน้อยคนนึง เมื่อเข้าสู่ช่วง “การ์ดปัจจัยผลักไสไล่ส่งใบไหนครับถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงเอาออกไปจากบ้านได้แล้วผมจะรอด” พอพูดจบ โดยปกติพ่อแม่ลูกทุกบ้านก็ต้องคุยกัน แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากหนุ่มน้อยยกมือคนแรกและพูดว่า “ผมขอพูดแล้วนะครับ” จึงถามกลับไปว่าคุยกับพ่อหรือยัง เขาหันไปมองพ่อและตอบว่า “ยังครับ แต่ผมจะพูดแล้วนะครับ” ด้วยการยืนยันอันแน่วแน่ป้าจึงให้หนุ่มน้อยพูดซึ่งการ์ดที่หนุ่มน้อยเลือกและพร้อมพูด คือ “การ์ดใช้ความรุนแรง” สังเกตได้ว่าเขาเตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ เมื่อถามกลับไปว่าใครที่เป็นคนใช้ความรุนแรงกับผม คำตอบคือ “พ่อครับ” เมื่อได้ยินคำตอบ ป้าหันกลับไปถามพ่อว่ารู้สึกยังไง ซึ่งยังดีที่ Workshop ของเราผ่าน (1) กิจกรรม ก่อน18, (2) เบิร์ดกับก้อง, (3) ดูหนังมาก่อน ความคิดของพ่อคงอ่อนตัวลงระดับหนึ่ง จึงพบว่าพ่อไม่ได้ลุกขึ้นมาเอะอะโวยวาย แต่ฟังแบบสตั๊น ๆ พร้อมพยักหน้า

เมื่อสถานการณ์มาถึงตรงนี้ป้าก็ขอตีความก่อน โดยช่วงชิงอธิบายเพิ่มเติมว่า “พวกเราในห้องนี้ต่างก็มีบาดแผลในครอบครัวและทำให้ลูกเราถึงมาที่นี่ อันนี้ต้องยอมรับ สำหรับป้า ป้าคิดว่าลูกพ่อคงอยากปลดอะไรบางอย่างที่ผูกมัดเขามาตลอดชีวิต ให้โอกาสลูก ให้ลูกลองพูดดู ให้เต็มที่เลยได้ไหม” พ่อบอก “ได้” ลูกจึงเล่าว่า “พ่อทำร้ายผม ทำร้ายจนผมรู้สึกว่าไม่มีคุณค่าอะไรเลยครับ คือผมอยู่กับพ่อ 2 คน ตามลำพังไม่มีแม่ พ่อขับรถบรรทุก บางทีก็กลับมาดึก ก็เมามา ก็ปลุกผม แล้วตบตีผม ผมก็ยิ่งทำอะไรไม่ดีมากขึ้นและพ่อก็ยิ่งตี” ป้าจึงได้ถามกลับไปว่า “หลังจากที่ผมมาอยู่บ้านกาญจนาฯ พ่อยังตีไหม” พ่อไม่ตอบ แต่ลูกตอบว่า “ยังตีบ้างครับ” ซึ่งป้าจำได้ว่าวันนั้นป้าร้องไห้ไปกับเขาและบอกว่า “พ่อรู้ไหม ลูกพ่อที่อยู่กับเราที่นี่เนี่ย แม้แต่ปลายนิ้ว เรายังไม่แตะเลย ไม่มีทางที่เราจะตีเด็ก ๆ ไม่ว่าลูกพ่อจะทำให้เรารู้สึกแย่ขนาดไหน เราไม่มีวันตีลูกพ่อ เพราะร่างกายของเขาศักดิ์สิทธิ์เสมอสำหรับเรา”
ป้าได้พูดคุยกับพ่ออีกพอสมควรซึ่งพ่อฟังแบบเงียบ ๆ สนใจทุกถ้อยคำ ไม่ก้าวร้าว ไม่แข็งกร้าว ขณะที่กระบวนการดำเนินไป ทุกครอบครัวก็พูดถึงเรื่องของตัวเอง ป้าก็ยังสังเกตปฏิกิริยาของพ่อและในตอนจบป้าก็เข้าไปแตะไหล่พ่อพร้อมกับพูดอะไรในเชิงบวกกับพ่ออีกเล็กน้อย สัปดาห์ถัดมาลูกชายของพ่อได้กลับบ้านสิ้นเดือนตามสิทธิ์โดยมีพ่อมารับ ป้าได้เขียนการ์ดรูปหัวใจให้พ่อ (มีภาพการ์ดรูปหัวใจ – จดหมายน้อยจากป้าถึงพ่อ) ระหว่างที่ลูกชายอยู่บ้านกับพ่อที่บ้านป้าก็ให้ที่ปรึกษาโทรศัพท์คุยกับพ่อ คุยกับเยาวชน “ดีมากครับ ผมมีความสุขมาก ปลอดภัยขึ้น พ่อไม่ได้ทำในสิ่งที่เคยทำ” และพ่อก็พูดคุยกับที่ปรึกษาด้วยน้ำเสียงที่ดี ให้เกียรติ
เมื่อย้อนกลับไปดูวิธีการในห้องประชุม ถ้าวันนั้นเราไม่บอกพ่อหรือไม่ทำให้พ่อเห็นว่าลูกของเขาต้องรวบรวมความกล้าหาญขนาดไหนที่จะสื่อสาร หนุ่มน้อยได้เก็บความอึดอัด อัดอั้นไว้นานแค่ไหน พ่อเคยอายุ 16 แต่ลูกพ่อไม่เคยอายุ 40 พ่อนึกออกใช่ไหมว่าเขาจะต้องรวบรวมความกล้าแค่ไหนเพื่อบอกพ่อ และในสถานการณ์แบบนั้นหากป้าไม่เขียนจดหมายน้อยถึงพ่อในช่วงที่พ่อรับลูกกลับไปอยู่ด้วยกัน เราอาจพลาดได้เพราะพ่อก็ต้องการการเยียวยา การเติมพลังเช่นกันน

จดหมายน้อยที่ป้าเขียนถึงพ่อที่ลูกชายเลือกการ์ด “บ้านใช้ความรุนแรง”
หลังจากทำกลุ่ม 1 สัปดาห์ ลูกชายได้สิทธิ์กลับเยี่ยมบ้าน
เพื่อเพิ่มพลังใจพ่อและสร้างความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัยให้ลูกชาย
ป้าเลยเขียนจดหมายน้อยให้พ่อในวันที่พ่อมารับลูกชาย

 

            สำหรับจุดอ่อนของเครื่องมือชุดนี้ก็มีนะ..คือการ์ดทั้งหมดมีที่มาจากการอ่านงานเขียนของเยาวชนชายเท่านั้น ไม่มีงานเขียนที่มีมาจากความรู้สึกหรือประสบการณ์ตรงของเยาวชนหญิง แม้แต่ชิ้นเดียว พอได้มีโอกาสไปทำงานกับเยาวชนหญิง ภายใต้เรื่องราวต่าง ๆ ที่มีโอกาส พบว่าการ์ดเกือบ 100% ตอบโจทย์ความเป็นทั้งหญิง ชาย ความเป็นมนุษย์ในครอบครัว ในสังคมได้หมด แต่ถ้าจะให้ครบถ้วนจริงน่าจะมีการ์ดบางใบที่ขาดหายไปหรือยังเป็นช่องว่างอยู่ เนื่องจากเยาวชนหญิงอาจมีปัจจัยผลักไสไล่ส่งเธอออกจากบ้านที่ต่างจากเยาวชนชายจึงอยากแนะนำผู้นำการ์ดไปใช้กับเยาวชนหญิงว่าอาจมีการ์ดเปล่า 1 – 2 ให้เยาวชนหญิงเขียนเพิ่มหากการ์ดที่มีอยู่ทั้งหมดยังไม่ใช่ปัจจัยผลักไสไล่ส่งเธอออกจากบ้าน

 

            มิติอื่น ๆ ของการใช้เครื่องมือ 

           หลังจากเยาวชนแต่ละบ้านเลือกการ์ดปัจจัยผลักไสไล่ส่งตามข้อเท็จจริงที่เยาวชนพบเจอ ก็ให้เยาวชนบอกเล่าเหตุผลกับพ่อแม่ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วก็ใช้วิธีแบ่งกลุ่มโดย ให้ 3 ครอบครัวมารวมเป็นกลุ่มเดียวกันเหตุผลของการนำแต่ละครอบครัวมาเข้ากลุ่มเพราะการได้ยินเสียงครอบครัวอื่น ความคิดของลูกๆ บ้านอื่น ความคาดหวังหรือว่าความเข้มของพ่อแม่คนอื่น นอกจากเยาวชนได้เรียนรู้ปัญหาที่หลากหลายแล้ว ยังทำให้เยาวชนรู้สึกว่าเขาโชคดีหรือถูก support
           เคยมีคำถามเชิงเป็นห่วงว่าการเผชิญหน้ากันในห้องประชุมระหว่างพ่อแม่และเยาวชนแบบหลากหลายครอบครัวนั้นเขากล้าพูดกันเหรอ เอาแบบสุดโต่งเลยนะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีคนนอกโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องลูกชายวัยรุ่น ซึ่งทางบ้านกาญจนาฯ แจ้งไปว่าพวกเรากำลังจะทำ Empower ให้ครอบครัวเยาวชนของเรา อยากชวนครอบครัวที่ขอคำปรึกษาเข้ามา แต่ข้อกังวลใจของเราคือพ่อแม่ของเยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษก เขาจะยินดีไหม จะสะดวกใจถ้าจะให้ครอบครัวที่ลูกไม่ได้มีประวัติก่อคดีเหมือนกับลูกของเขาเข้ามา จึงต้องขอไปปรึกษาไปขออนุญาตพ่อแม่ที่จะเข้าประชุมก่อน ปรากฏว่าคำตอบคือ “เอาเข้ามาเถอะ สมัยที่เรามีปัญหา เราหาตัวช่วยไม่เจอเลย ดังนั้นถ้าเขากำลังมีปัญหา และที่นี่ช่วยได้ พวกเราช่วยได้ เข้ามาเถอะ” เมื่อถามต่อว่าไม่ลำบากใจใช่มั้ย ที่จะต้องพูดเรื่องครอบครัวของตัวเองให้คนนอกฟัง เช่นนาทีที่เท่าไหร่ ช่วงอายุที่เท่าไหร่ เหตุการณ์อะไรที่ลูกของเราเริ่มออกไปปล้นแล้ว ฆ่าแล้ว พ่อๆ แม่ๆ ก็บอกว่า “ได้” เพราะถึงคนนอกเข้ามา แต่สิ่งที่จะพูดจะแลกเปลี่ยนมันก็ช่วยให้พ่อแม่เหล่านั้นได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

 

“บ้านกาญจนาภิเษกได้ปรับกระบวนการ empower ให้ครอบครัวมานั่งร่วมกันคิด ร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมกันคราวละ 3 ครอบครัว แทนรูปแบบเดิมทีนั่งเป็นแต่ละครอบครัว”

 

            ข้อแนะนำสำหรับคนทำงานกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว สำหรับก้าวแรกของการสร้าง หรือพัฒนาเครื่องมือ

           คิดว่าสิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือต้องได้ยินเสียงของเขาจริง ๆ ซึ่งที่บ้านกาญจนาฯ ยังหาวิธีอื่นไม่ได้นอกจากการให้เยาวชนเจ้าของชีวิตเขียน หรือบอกเล่าภายใต้โจทย์หลากหลาย เช่น เขียนจดหมายถึงตัวเองหรือถ้าพบคนในข่าวอยากพูดอะไรหรืออยากบอกอะไรคนในหนังที่ได้ดูวันนี้ ฯลฯ แต่ถ้ามองกลับไปในการศึกษาไทย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลดทอนการตัดหลายเรื่องที่น่าจะเป็นต้นทุนดีๆ ออกจากวงจรชีวิตของนักเรียน เช่น การเขียน การอ่าน ที่มาจากโจทย์หลากหลายถ้าเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เขียน ได้บันทึกแค่อ่านเจอเพียง 1 คำสำคัญ อาจตอบโจทย์ที่เรากำลังค้นหาได้ ดังนั้นก่อนที่จะทำงาน เยียวยาหรือ Empower จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ยินเสียงเขาก่อน เช่น เสียงของเด็กผู้หญิงอะไร คือ ความไม่ปลอดภัย อะไรคือปัจจัยผลักฯ ในเวลาที่เธออยู่บ้าน อยู่โรงเรียน อยู่สถานสงเคราะห์ ถ้าไม่ฟัง ไม่ได้ยินเสียงเขา การใช้เพียงจินตนาการอาจจะรับรู้เพียงส่วนหนึ่ง แต่การได้ยินเสียงอาจนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมกับพวกเธอ
“ ขั้นแรกเข้าไปจนได้ยินเสียง ส่วนขั้นที่สองไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็กระโดดเข้าไปหาเขาเลย แต่เป็นการหาบันไดทีละขั้นๆ หรือค้นหา กระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลง”

 

            กรณีตัวอย่างที่พีคมาก ๆ จากความทรงจำของป้ามล

            ในการทำ Empower เมื่อหลายปีก่อนมีพ่อคนหนึ่ง มีบุคลิกดี มีออร่าที่สุดในห้องประชุมซึ่งในระหว่างกิจกรรมที่ (1) “ก่อน 18” กิจกรรมที่ (2) “เบิร์ดกับก้อง” สังเกตเห็นว่าเขาแสดงความคิดเห็นอย่างมีภาวะนำมาก เขาเป็นพ่อของลูกชายที่มาด้วยคดีที่รุนแรงเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์หลายวัน เมื่อลูกมีคดีรุนแรง ขณะนี้ภาวะผู้นำของพ่อโดดเด่น ทำให้ต้องลุ้นว่าประเดี๋ยวฉากต่อไปคืออะไร จากนั้นถึงช่วง “ดูหนัง” กิจกรรมที่ (3) ที่ออกแบบให้ลูกๆ เข้ามาได้ ก็พบว่ามีระยะห่างของพ่อ – ลูกอยู่บ้าง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับแม่ค่อนข้างดีเป็นปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงเลือกการ์ด เท่าที่สังเกตพบว่าลูกชายบ้านนี้เลือกการ์ดเพียงหนึ่งใบ คือ “ถูกบังคับตีเส้นตีกรอบ” และอธิบายอย่างตั้งอกตั้งใจมาก

เด็กชายบอกว่า                 “ป๊าจำได้ไหมว่าตอนที่ผมเป็นเด็ก ป๊าสั่งอะไรผมก็ทำให้ทั้งหมดที่ป๊าสั่งแม้แต่ให้เข้าโรงเรียนประจำ ผมไม่ได้ชอบโรงเรียนประจำนะ แต่ป๊าบอกว่าต้องไป ผมก็ไป แล้วผมก็ไปป่วนไปอะไรในโรงเรียน จนกระทั่งถึงที่สุดก็ต้องออกจากโรงเรียนประจำ ป๊าจำได้ใช่ไหม”
                                            “แล้วพอถึงจุดหนึ่งเนี่ย ผมก็เริ่มรู้สึก รู้สึกว่าสิ่งที่ป๊าสั่งให้ผมทำนู่นทำนี่เนี่ยไม่ชอบ แต่ว่าเราคุยกันไม่ได้ไงป๊า ผมก็เลยมีวิธีของผมเอง ถ้าป๊านึกออกอีกก็คือทุกครั้งเวลาผมกลับมาจากโรงเรียน แล้วพอเดินเข้าบ้าน ถ้าป๊าอยู่ตรงไหน ผมจะไม่ไปตรงนั้น ป๊าจำได้ไหม ว่าผมจะไม่เดินไปตรงที่ที่ป๊าอยู่ ไม่ว่าจะหน้าทีวี หรือว่าห้องที่กินข้าว”
(ป้ามลเล่า)                         บ้านนี้ฐานะค่อนข้างดี ปัจจัยทางวัตถุเพียบพร้อม ซึ่งระหว่างที่ป๊าฟัง ป๊าก็พยักหน้าหงึก ๆ
เด็กชายบอกว่า                  “ผมจะพยายามไม่เข้าใกล้ป๊า แล้วทุกครั้งที่ไม่ได้อยู่ใกล้ป๊าเนี่ย ผมกลับเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกว่าไม่ถูกกด ไม่ถูกอะไรตีเส้นตีกรอบ แต่ผมยังต้องขอเงินป๊าอยู่ไง คือยังต้องกลับเข้ามาตรงนี้อีก”  
(ป้ามลเล่า)                         เหมือนกับในความเป็นเด็กของเขาคิดว่าป๊าน่าจะรู้บ้างว่าทำไมผมถึงไม่เข้าหาป๊า แต่ความจริงคือป๊าไม่รู้อยู่ดี
ลูกชายบอกว่า                   “ช่วงแรก ๆ ที่ไม่ค่อยหาป๊าเนี่ย ผมจะมีเพื่อนเข้ามาประชิดชีวิต (หรือมีปัจจัยดึงดูดนอกบ้าน) แต่พอลำบากเรื่องเงินก็จำเป็นต้องกลับมาที่บ้าน”
หมายเหตุ  เพราะนี่คือบ้านเขา ฐานะครอบครัวค่อนข้างดีแต่การกลับเข้าบ้านหลังจากทำตัวหายไปพักหนึ่งบรรยากาศก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ยังไม่มีบทสนทนา ยกเว้นคำสั่ง รอบต่อมาลูกชายก็ออกจากบ้านอีก เริ่มสมาคมกับเพื่อน เริ่มลักวิ่งชิงปล้นเล็ก ๆ แทนเข้าบ้านเพื่อขอเงินป๊า ลูกชายบ้านนี้ทำเรื่องเล็ก ๆ อยู่เป็นปี พอยิ่งทำก็ยิ่งฮึกเหิม และการไม่ได้ขอเงินพ่อ ความรู้สึกที่เหมือนตัวเองไม่ถูกพันธนาการโดยการตีเส้นตีกรอบก็ผลักเขาไปจนสุดโต่ง จนกระทั่งวันที่เขาก่ออาชญากรรมที่รุนแรง
ลูกชายบอกว่า                  “นาทีนั้นผมถามตัวเองทันทีเลยว่า ผมมาถึงตรงนี้ได้ยังไง ผมกลัว ผมเสียใจ ผมร้องไห้นะครับ แล้วผมก็ไม่รู้ ว่าป๊ารู้สึกอย่างไร แต่ผมรู้ว่าป๊าน่าจะเห็นในข่าว เพราะมันออกข่าวทุกวัน ในที่สุดผมก็บอกป๊าว่า ผมเป็นคนทำ..”
(ป้ามลเล่า)                      พอลูกชายพูดจบ แม่ฟังแบบนิ่งมาก
พ่อเขาบอกว่า                   “ป้าฟังผมมั่งได้ไหม”
ป้าก็บอกว่า                     “ได้สิ พ่อพูดได้เลย”
พ่อเขาก็บอก                    “ผมมีลูกคนเดียว ผมมีธุรกิจของครอบครัว ผมก็อยากที่จะสร้างทุกอย่างเอาไว้ให้เขา ไม่ได้จะเอาไปไหน ผมก็เลยคิดเอาเองว่าผมคือผู้กำกับนะ ลูกผมต้องเป็นพระเอกนะ พระเอกที่ดีก็ต้องเดินตามเส้นของผู้กำกับนะ ผมก็คิดแบบนี้”
เมื่อการพูดคุยไปถึงจุดยาก ป้ารู้ว่าป้าไม่ควรจะถกเถียงกับพ่อ ป้าก็เลยหันไปถามความคิดเห็นพ่อคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่ในห้องประชุม “ในฐานะพ่อมีคำแนะนำอะไรบ้าง”
พ่อคนอื่น ๆ บอกว่า        “ลูกมาถึงตรงนี้แล้วถ้าถอยได้ ปรับได้ก็ต้องทำ”
(ป้ามลเล่า)                     แต่แววตาของพ่อก็ยังไม่อ่อนลง จึงยังไปต่อไม่ได้ งั้นจะแวะที่ไหนดี ป้าก็เลยต้องหันไปหาเด็ก ๆ ในห้องนั้นอีก 2-3 คน “ในฐานะลูกผมมีความคิดอย่างไรบ้างครับ”
ลูกชายจากบ้านอื่นบอกว่า   “ผมอยากให้ผู้ใหญ่ปรับ – ผู้ใหญ่ถอยบ้างนะครับ ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร ไม่มีใครมาสั่งเรา ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง กลับออกไปถ้าเราไม่มีบ้านที่เข้าใจ บ้านที่ผลักเราออกมาแบบที่เคยผลัก โอกาสที่เราจะก่อคดีอีกมีแน่และอาจแรงขึ้น”
เยาวชนในห้องประชุมก็ลุกขึ้นมาพูด ส่งเสียงแทนเพื่อน แต่ป้าคิดว่าถึงจุดที่ขยี้พอแล้ว ก็จะทิ้งไว้ก่อน หลังจาก workshop จบลงกระบวนการปกติของบ้านกาญจนาภิเษก คือ เยาวชนทุกคนต้องเขียนบันทึกความรู้สึกต่อการเข้ากลุ่ม Empower และนี่คือบางบรรทัดของบันทึกความรู้สึกของลูกชายคนนั้น…
“วันนี้ผมรู้ว่าทุกคนในห้องประชุมคงคิดว่าพ่อผมแปลก แต่ผมอยากบอกป้านะครับว่าวันนี้พ่อดีที่สุด สำหรับผมวันนี้พ่อดีที่สุด”
“วันนี้พ่อสบตาผมตลอดในระหว่างที่เราพูดคุย พ่อไม่สั่งให้ผมหยุดในระหว่างที่ผมพูด เวลาผมอธิบาย พ่อฟัง ฟัง แล้วฟัง ซึ่งพ่อไม่เคยทำแบบนี้กับผมมาก่อนเลย สำหรับผมวันนี้พ่อดีที่สุดครับ”
พอป้าอ่านบันทึกลูกชายจบลงก็รู้สึกว่ามีทางไป แม้ในตอนที่จบ workshop เมื่อวานพ่อยังดูขยับเขยื้อนไม่ได้หรืออาจเป็นเพราะเราก็รู้จักพ่อไม่มากพอก็ได้ แต่พอเอาจิ๊กซอว์มาต่อกันเราก็เห็น ความสวย ความสมบูรณ์ของภาพและได้เรียนรู้ความคิดดีๆ ของเยาวชนซึ่งเขาไม่ได้คาดหวังว่าพ่อแม่ของเขาต้องเปลี่ยนแบบพลิกเลย แค่ได้ยินเสียงของเขาบ้าง เขาแค่อยากให้พ่อแม่รับรู้ รับฟังว่าเขาพูดอะไร เขารู้สึกอย่างไร พอเขาได้พูดแล้วเขาก็ดูเหมือนโล่งไประดับนึง
สุดท้ายครอบครัวนี้พ่อยอมกอดลูกและบอกลูกว่า “ขอเวลาพ่ออีกนิด พ่อไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน” ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับพ่อไม่มีช่องว่างเหมือนเดิมอีกแล้วที่สำคัญเยาวชนสามารถรักษาอิสรภาพ – เสรีภาพและดูแลตัวเองได้ดี


เขียนโดย
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ (สมิต) _ Life Education (Thailand) ร่วมด้วย
ชนันญา น้อยสันเทียะ
ภาพประกอบโดย
ดิเรกฤทธิ์ พิมพ์สอน

0 responses on "เสริมพลังครอบครัว สไตล์ ป้ามล ทิชา ณ นคร"

Leave a Message

Your email address will not be published. Required fields are marked *

LIFE EDUCATION (THAILAND) © ALL RIGHTS RESERVE 2019