
.
“ครอบครัว โรงเรียน และการเสริมพลัง”
.
วิถีของโรงเรียนโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย ได้กำหนดให้การพบปะพูดคุยกับครอบครัวเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ที่ต้องเกิดขึ้น ผ่านกระบวนการพบปะในวันปฐมนิเทศนักเรียน วันพบผู้ปกครองเพื่อรับเกรด วันที่ครูเยี่ยมบ้าน และวันที่เด็กทำผิดต่อกฎระเบียบของโรงเรียน…คำถามคือ
การพบปะพูดคุยกับครอบครัว ในวัน หรือสถานการณ์ต่างๆข้างต้น…ครูและครอบครัว รวมถึงเด็ก พูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง เสริมพลังอะไรกันบ้างหรือไม่…
.
กระบวนการในครั้งที่ 8 นี้เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ท้าทายที่สุดของการออกแบบวิชาชีวิตครั้งนี้ และก็เป็นกระบวนการที่ทีมทุกคนเห็นตรงกันว่า ต้องมี แม้จะยาก แต่ก็ต้องจัดให้มีให้ได้ คือ กระบวนการเสริมพลังพ่อแม่ลูก…สิ่งที่ทุกคนกังวลตั้งแต่ครู จนถึงผู้บริหารโรงเรียน คือ การตอบรับของครอบครัวในการเข้าร่วม เพราะจากประสบการณ์การทำงานของโรงเรียนที่ผ่านมา และด้วยภาระด้านอาชีพของครอบครัว คือ อุปสรรคสำคัญต่อการตอบรับเข้าร่วมกระบวนการ…แต่ในที่สุด ครอบครัวที่ตอบรับเข้าร่วม และมาเข้าร่วมกระบวนการทั้งหมดมีจำนวนมากถึง 90% หรือ 36 ครอบครัว จาก 40 ครอบครัว
.
ปัจจัยความสำเร็จของการเชิญชวนครอบครัว จากการวิเคราะห์ ประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ
- ปัจจัยด้านกระบวนการและเนื้อหาในการเชิญชวน หมายถึง กระบวนการและเนื้อหาที่เชิญชวนครอบครัวเข้าร่วมกระบวนการ คือ กระบวนการที่อธิบายชัดเจนถึงเป้าหมายว่า การพบกันครั้งนี้ ทุกครอบครัวที่เข้าร่วมจะไม่มีใครถูกตำหนิเรื่องพฤติกรรมหรือผลการเรียนของลูก แต่มีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังครอบครัว และส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างครูและครอบครัวในเชิงบวก
- ปัจจัยด้านผู้เหนี่ยวนำ ประกอบไปด้วย
2.1 เด็กที่เข้าร่วมกระบวนการ ตลอด 7 ครั้งที่ผ่านมา เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวครอบครัวให้เข้าร่วมงานนี้ โดยพวกเขาได้ช่วยอธิบาย ช่วยจูงใจให้ครอบครัวเห็นความสำคัญ โดยที่ทีมโครงการไม่ได้เป็นผู้บังคับหรือสั่งให้ทำแต่อย่างใด…แต่เหตุผลที่เด็กกล้าชวนครอบครัวมาจากความเชื่อมั่นและเข้าใจในเป้าหมายว่ากระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อเสริมพลังครอบครัวพวกเขาจริงๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า
2.2 ครูประจำชั้น ก่อนถึงกระบวนการในครั้งนี้ ครูประจำชั้นได้โทรคุยและไปเยี่ยมบ้าน เพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัว ไม่น้อยกว่า 15 ครอบครัว บางคืนกลับถึงบ้าน 4-5 ทุ่ม ครูได้อธิบายถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งกระบวนการที่ครูลงไปเยี่ยมบ้านนั้น ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ทีมขอให้ครูทำแต่อย่างใด แต่ครูเห็นถึงความสำคัญ และลุยเข้าไปตามบ้านของน้องๆบางคนที่ครอบครัวอาจยังไม่เข้าใจในเจตนาชัดเจนนัก ซึ่งทุกคำพูด คำเชิญชวนของครูที่มีต่อครอบครัวนั้น ไม่มีการนำเอาคะแนน หรือกฎระเบียบใดขึ้นมาขู่เพื่อให้คุณ ให้โทษแม้แต่นิดเดียว…ขอคารวะหัวใจของครูมากๆครับ
.
กระบวนการวันนี้แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
ช่วงที่ 1 ทำงานกับครอบครัว และเด็ก แยกกันคนละห้อง
กระบวนการกับครอบครัว มีเป้าหมายสำคัญเพื่อชวนให้ พ่อแม่ หรือญาติที่มา ได้เข้าใจบริบทของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ทำให้การเข้าถึงข้อมูล ทั้งดีและไม่ดีของเด็กต่างไปจากยุคพ่อแม่ ค่านิยม วิถีชีวิตของพวกเขาจึงมีการเติบโตที่แตกต่างออกไป สิ่งที่พ่อแม่ ในฐานะบุคคลผู้ซึ่งเคยเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น มาก่อนคือ การมอบความเข้าใจ และปรับตัวเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยกันในครอบครัว
.
กระบวนการกับเด็ก ถูกออกแบบให้ทำความเข้าใจถึงการแยกแยะปัจจัยดึงดูด และปัจจัยผลักไส เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นถึงสองคำนี้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจในเชิงบริบทการใช้ชีวิต ของ “ผู้ใหญ่” ว่าเหตุใด พวกเขาถึงได้พลั้งเผลอ หลงลืมการทำหน้าที่บางช่วงบางตอน อันนำมาซึ่งบาดแผลในครอบครัว ทั้งสาเหตุที่มาจากภาระด้านรายได้ ความเครียด ความกังวล ความไม่เข้าใจในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
.
ช่วงที่ 2 ทำงานกับครอบครัวและเด็ก ในห้องและกิจกรรมเดียวกัน
.
เริ่มจากการพูดคุยกันเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสั้น ในเรื่องราว ทางแยกของบี หนึ่งในหนังสั้นก่อน 18 (กรณีศึกษาของเด็กผู้ก้าวพลาด) ที่สื่อสารปมครอบครัวที่มาตรฐานความดี เลว ถูกขีดเส้นที่หนักและตึง จนทำให้ขาดพื้นที่หายใจ ขาดพื้นที่การยอมรับในความผิดพลาด หรือปัญหาเล็กๆที่เกิดขึ้น เมื่อความผิดพลาดเล็กๆถูกซ่อนไว้ด้วยความตั้งใจที่ไม่อยากให้พ่อแม่ต้องเสียใจ สะสมเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นบาดแผลที่ยากต่อการรักษา…อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ ผลักไส ลูกออกไปสู่หนทางที่ยากต่อการกลับบ้าน
.
หลังจากกระบวนการวิเคราะห์หนังร่วมกันเสร็จสิ้น กระบวนการเสริมพลัง(Empower) ครอบครัว ผ่าน Empower: The Family Tool kit ก็เริ่มต้นขึ้น…ชุดเครื่องมือนี้ถูก re design มาจากชุดเครื่องมือเสริมพลังครอบครัวของบ้านกาญจนาภิเษก โดยปรับรูปลักษณ์ให้สื่อสารความรู้สึกของคำผ่านภาพ และใช้งาน พกพาได้สะดวกยิ่งขึ้น…ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ทดลองใช้เครื่องมือ เวอร์ชันนี้กับครอบครัว ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่ทำกระบวนการกับครอบครัวของนักเรียนผู้เป็นต้นน้ำ อย่างเต็มรูปแบบ
การแยกแยะเพื่อทำความเข้าใจ “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกออกจากบ้าน” และ “ปัจจัยดึงดูดนอกบ้าน” เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งลูกและพ่อแม่ ญาติที่มาช่วยกันอย่างตั้งใจ หลังจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ Sensitive มากที่สุด คือ การเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกและพูดถึงการ์ด 1-3 ใบ ที่พวกเขาคิดว่าถ้าหยิบออกจากบ้านไปแล้ว บ้านของเขาจะเป็นบ้านที่น่าอยู่มากขึ้น…หลายคนเลือกมากกว่า 3 ใบ และนี่คือผลลัพธ์โดยรวมของการ์ดที่เด็กทั้งห้องเรียนได้เลือกออกมา 4 อันดับแรก
!! อันดับที่ 1 : ผู้ใหญ่บ่นเรื่องเดิมซ้ำๆ (เลือกใบนี้ 27 คน คิดเป็น 75%)
!! อันดับที่ 2 : ตำหนิลูกต่อหน้าคนอื่น (เลือกใบนี้ 12 คน คิดเป็น 33.3%)
!! อันดับที่ 3 : ถูกบีบบังคับ ตีเส้นตีกรอบ (เลือกใบนี้ 11 คน คิดเป็น 30.6%)
!! อันดับที่ 4 : ชอบเปรียบเทียบระหว่างพี่กับน้อง (เลือกใบนี้ 9 คน คิดเป็น 25%)
.
ป้ามล และทีม ได้ช่วยกันเข้าไป consult ชวนครอบครัวคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจ และก้าวข้ามความรู้สึกผิด หรือกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ภายในจิตใจ…ความรู้สึกเหมือนได้ปลดล๊อคโซ่ตรวนภายในใจของเด็ก และพ่อแม่ ญาติที่มา อาจเป็นคำอธิบายหนึ่งที่ อธิบายช่วงเวลานี้ได้ หลายปัญหาที่สื่อสารกัน อาจมีตัวละครมากกว่าคนที่นั่งอยู่ในห้อง อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยทันที แต่การสื่อสารกัน ทำความเข้าใจกัน นำมาซึ่งความโปร่ง โล่ง สบายในจิตใจ นำมาซึ่งความเข้มแข็ง นำมาซึ่งวัคซีน นำมาซึ่งความเข้าใจที่พร้อมจะเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตไปพร้อมกัน
.
ก่อนกลับ เราได้ชวนให้พ่อแม่ลูก ญาติๆที่มาได้จับมือปิดไฟ ร้องเพลง และกอดกัน…เมื่อกลับถึงบ้านมีเด็กหลายคน message หาครูว่าอยากได้รูปที่พวกเขาได้จับมือกับครอบครัว ได้กอด ได้แสดงความรัก เพราะนี่คือ ช่วงเวลาที่เขาอยากจะเก็บไว้ให้ยาวนานที่สุดในกล่องความทรงจำ
0 responses on "การเดินทางของวิชาชีวิต สู่โรงเรียนวัดคู้บอน ตอนที่ 8 : เสริมพลัง(Empower)พ่อแม่ลูก"