
.
“ความสุ่มเสี่ยงอะไรบ้างที่อยู่รอบตัวเรา…และอาจพาให้เราตกลงไปในหลุมดำ”
.
ชีวิต คือ องค์ประกอบของการเดินทาง บางครั้งมีทุกข์ บางครั้งมีสุข บางครั้งมีสำเร็จ บางครั้งมีพลาดพลั้ง ชีวิตที่สมบูรณ์แบบดำเนินไปโดยโรยด้วยกลีบกุหลาบไม่ได้มีอยู่จริง…เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว วัยรุ่นในฐานะผู้ที่ “กำลังเริ่มต้น” ตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตเหล่านั้น เขามีพื้นที่ของการเรียนรู้ที่ปลอดภัยมากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน พื้นที่ที่จะคอยปรบมือเมื่อเขาทำสำเร็จ ปลอบโยนเมื่อเขาแพ้พ่าย ให้อภัยเมื่อเขาพลาดพลั้ง…
.
วันนี้ ถือเป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ การสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กระดับชั้น ม.2 ทั้ง 3 ห้องเรียน จำนวนกว่า 120 ชีวิต ซึ่งพวกเขาได้เรียกร้องอยากเข้าร่วมกระบวนการมาตลอดระยะเวลาทั้ง 6 ครั้งก่อนหน้านี้…
.
ซึ่งกระบวนการในครั้งนี้ถูกออกแบบภายใต้โจทย์ใหญ่สำคัญ คือ ความต้องการคลี่ภาพ เพิ่มทุนคำศัพท์ในการอธิบายเกี่ยวกับ “หลุมดำ” ที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงในตัวมนุษย์ทุกคน
.
รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังเสียงจากเด็กที่เปล่งผ่านตัวหนังสือ ผ่านคำพูด เกี่ยวกับ “หลุมดำ” ที่เขาได้เจอ และความช่วยเหลือที่เขาอยากได้รับ
.
ความหมายของคำว่า หลุมดำ ในกิจกรรมนี้ ได้ถูกอธิบายสู่เด็กอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรื่องราวอันเป็นความลับ ความผิดพลาดที่เคยแอบมีชีวิตอยู่เงียบๆข้างๆตัวของเด็ก ได้ถูกทำให้มองเห็น ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ ทำความเข้าใจบนความหมายใหม่ที่สร้างขึ้น ว่าหลุมดำ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาของชีวิต แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะก้าวข้ามอย่างไรเราจะขอความช่วยเหลือใครให้ช่วยพาเราเดินข้ามได้บ้าง
.
การมองเห็นหลุมดำเหล่านั้นทำให้พวกเราสามารถวางแผนเพื่อรับมือ และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเด็กแต่ละคน…
.
กระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็กในการแยกแยะ ผิด ถูก ดี เลว จะค่อยๆพัฒนาขึ้นจากการ อธิบายกลไกของ “หลุมดำ” ที่อยู่ภายใน และรอบตัวของพวกเขา
.
จากข้อค้นพบเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียน ในฐานะพื้นที่ที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของนักเรียน แต่ในปัจจุบันโรงเรียนยังไม่สามารถสร้างสรรค์พื้นที่ หรือนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่เชิงรุกด้านการป้องกัน ในระดับที่สามารถจัดการกับปัญหาได้…จึงทำให้เด็กนักเรียนขาดต้นทุนในการทั้งสื่อสาร และขอความช่วยเหลือ
.
กระบวนการได้ถูกออกแบบให้มีการใช้หนังเรื่องของใต้เงาแห่งความฝัน (หนึ่งในกรณีตัวอย่างของเด็กผู้ก้าวพลาด) เมื่อการดูหนังร่วมกันเสร็จสิ้น การวิเคราะห์เชื่อมโยงก็เริ่มต้นขึ้น ผ่านคำถาม และกิจกรรมที่ช่วยย่อยความคิดเด็กลงบนกระดาษแผ่นเล็กๆ หนึ่งแผ่น หนึ่งคำ หนึ่งเรื่องราว…
.
สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาได้ฝึกการให้ความหมายคำว่า ‘หลุมดำ’
.
เราค้นพบว่าในการ์ดหลายใบที่น้องๆได้เขียน รวมถึงจดหมายที่นำมาใส่ตู้ใสหน้าห้อง เพื่อใช้รวบรวมความรู้สึก ความต้องการในการได้รับความช่วยเหลือนั้น…ถ้าโรงเรียนมีพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟังเด็กที่เพียงพอ เชื่อได้ว่า ‘ปัญหาเล็กๆจะถูกตัดตอนไม่ให้ขยายวงให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ๆ’
0 responses on "การเดินทางของวิชาชีวิต สู่โรงเรียนวัดคู้บอน ตอนที่ 7 : สวัสดีหลุมดำ"