
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครเชื่อว่าโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย โรงเรียนเล็กๆจากตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษแห่งนี้จะพลิกโฉมตนเองได้ถึงขนาดนี้ ตั้งแต่ด้านผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่คะแนนสอบ O-NET สูงขึ้นถึง 6 วิชาโดยที่ไม่มีการจัดติวใดๆ รวมถึงด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนลดลงไปอย่างมาก กลายเป็นพฤติกรรมที่นอบน้อมและเกื้อกูลซึ่งกันและกันโดยที่ครูไม่ต้องเอ่ยปาก ผู้ปกครองและชุมชนต่างพร้อมใจให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนราวกับเป็นครอบครัวที่อยู่ในรั้วเดียวกัน รวมถึงแววตาของครูผู้สอนที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจที่ได้เห็นพัฒนาการในตัวเด็กที่ค่อยๆเติบโตจากรุ่นสู่รุ่น และในบัดนี้โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยก็ได้เป็นต้นแบบของการเป็น “โรงเรียนสุขภาวะ”
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ดร.กัมพล เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้เปิดเผยว่าในช่วงปีแรกที่ท่านมีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นได้มีกระแสคัดค้านและต่อต้านอย่างหนักมากทั้งจากครูผู้ซึ่งทำงานที่โรงเรียนมาอย่างยาวนาน รวมถึงผู้ปกครองอีกหลายท่านที่ไม่มั่นใจว่าการให้นักเรียนมาทำกิจกรรมนั่งๆนอนๆนั้นจะทำให้เด็กเรียนเก่งขึ้นได้อย่างไร ลูกๆของเขาจะเรียนทันเพื่อนโรงเรียนอื่นหรือไม่ แม้แต่ทีมงานคุณครูที่ได้ไปดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาด้วยกันเองก็ยังไม่มั่นใจว่าจะนำแนวทางนั้นมาใช้กับโรงเรียนของตนได้เนื่องด้วยบริบทของโรงเรียนนั้นแตกต่างกัน
ท่ามกลางแรงทัดทานที่ถาโถมเข้ามา ผอ.กัมพลก็ไม่ได้ท้อถอยหรือล้มเลิกความคิดไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รีบเร่งหรือบีบบังคับทุกคนว่าจะต้องทำตามความคิดของตน แต่ท่านใช้วิธีการค่อยๆคุยและสอบถามความคิดเห็นของคุณครู โดยตั้งโจทย์ให้ครูร่วมกันแบ่งปันว่า
“โรงเรียนแบบไหนที่นักเรียนจะมาเรียนด้วยความสุข และคุณครูเองก็สอนด้วยความสุข”
มุมมองจากคุณครูแต่ละท่านจึงได้ถูกลำเลียงถ่ายทอดออกมาและค่อยๆประกอบกันเป็นรูปร่างกลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนสุขภาวะในแบบฉบับของตนภายใต้ชื่อ
“ทุ่งยาวคำโปรยโมเดล”
“เมื่อถูกร้องขอให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากวิธีสอนแบบเดิมที่ใช้วิธีดุด่าและตีนักเรียนมาเป็นครูวิถีสุขภาวะที่ใช้ถ้อยคำนุ่มนวล ไม่มีการลงโทษ ก็เป็นธรรมดาที่ครูจะรู้สึกต่อต้านเพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกลดบทบาทลง”
ผอ.กัมพลสะท้อนว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในช่วงเริ่มต้นนั้นไม่ง่ายเลย อาจจะมีครูบางส่วนที่เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมือตั้งแต่แรก แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังรอดูท่าทีอยู่โดยเฉพาะครูที่คุ้นชินกับการสอนรูปแบบเดิมมานาน แต่เมื่อทุกกระบวนการได้ผ่านการคิดและตัดสินใจร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆงอกเงยไปตามกาลเวลาทีละเล็กละน้อย
จนกระทั่งถึงวันที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ร่วมกันว่าจะเชิญผู้ปกครองมาเข้าร่วมกิจกรรมรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจะจัดให้กับนักเรียนตลอดหนึ่งวันเต็ม ผลปรากฏว่าเมื่อผู้ปกครองได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยตนเองจึงทำให้เข้าใจความตั้งใจและแนวทางในการจัดการศึกษาของทางโรงเรียนชัดเจนขึ้น รวมทั้งเกิดความตระหนักว่าผู้เรียนจะได้ประโยชน์อย่างไรจากกิจกรรมดังกล่าว ผลของกิจกรรมในครั้งนั้นไม่เพียงสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง แต่โรงเรียนยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีถึงขนาดที่มีเสียงเรียกร้องอยากให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเช่นนี้ให้กับผู้ปกครองอีกเรื่อยๆ ทำให้ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชนอย่างล้นหลามนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ผลกระทบอีกด้านที่ทางทีมงานไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าก็คือทีมคุณครูที่ได้นำกิจกรรมมาทดลองจัดกับผู้ปกครองนั้นเกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นและเชื่อมั่นในแนวทางจัดการศึกษาว่าในเมื่อตนสามารถจัดกิจกรรมกับผู้ปกครองได้แล้วกับนักเรียนก็ไม่น่าจะเกินความสามารถ กลายเป็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ช่วยเสริมขวัญกำลังใจให้แก่ทีมงานไปในตัว และจากนั้นทางโรงเรียนก็พร้อมเดินเครื่องพัฒนาทุ่งยาวคำโปรยโมเดลกันอย่างเต็มรูปแบบ
หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ทางโรงเรียนได้ใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือหลักในการรับฟังมุมมองและเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่ขั้นทำแผนพัฒนาโรงเรียน การดำเนินการตามแผน และการสรุปบทเรียนร่วมกัน ทำให้แผนงานเกิดขึ้นจากความคิดและความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเด็กนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ชุมชน และทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดแผนงานที่ประจุจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของโรงเรียนแห่งนี้ร่วมกันของทุกคน
ในการจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนให้น้ำหนักทั้งการพัฒนา
ปัญญาภายนอก (เช่น ความรู้ทางวิชาการและทักษะวิชาชีพ) และ
ปัญญาภายใน (สติ สมาธิ คุณธรรม ฯลฯ)
โดยที่โรงเรียนจะเริ่มต้นวันด้วยการเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์ร่วมกันเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่จะไม่มีการอบรมหน้าเสาธงที่ยืดยาว เพื่อให้นักเรียนได้เริ่มต้นฝึกสติตั้งแต่การเดินแถวเข้าห้องเรียนและเริ่มต้นวันด้วยการทำกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสติสมาธิ รวมถึงเรียนรู้ตนเองขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น จากนั้นจึงค่อยเป็นการเรียนวิชาตามสาระการเรียนรู้ต่างๆ ส่วนภาคบ่ายหลังรับประทานอาหารกลางวันก็จะมีกิจกรรม Bodyscan เพื่อฟื้นฟูพลังแห่งการเรียนรู้ก่อนที่ผู้เรียนจะได้เรียนวิชาบูรณาการและกิจกรรมเสริม ต่างๆซึ่งทางโรงเรียนได้ประยุกต์แนวทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น problem-based learning, active learning หรือการเรียนรู้ชุมชน เป็นต้น
ผอ.ปิยะ การะเกษ จากโรงเรียนบ้านจันทน์หอมตาเสกซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายที่ได้นำแนวทางการเรียนรู้ดังกล่าวไปลองประยุกต์ใช้ ได้สะท้อนว่า กิจกรรมต่างๆโดยเฉพาะจิตศึกษานั้นเป็นประโยชน์แก่เด็กนักเรียนของตนเป็นอย่างมากแม้กระทั่งกับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นเองก็ตาม ผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือการที่เด็กมีสติสมาธิ มีความพร้อมแก่การเรียนรู้ และให้ความร่วมมือกับการเรียนมากขึ้น ฟังครูมากขึ้น และลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลง ทำให้เห็นว่าแนวทางนี้สามารถนำไปขยายผลต่อยอดได้จริงๆ แต่ต้องให้ครูนำไปประยุกต์ให้เข้ากับเด็กนักเรียนในบริบทของตนเองด้วย
ทางฝั่งของผู้ปกครอง คุณรัดดา คงประเสริฐ ผู้ปกครองที่เคยศึกษาที่โรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยแห่งนี้รวมทั้งได้ส่งลูกๆทั้งสามคนเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ได้สะท้อนว่า
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนไปอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ทำให้ตนรู้สึกอบอุ่น สนิทใจ เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันมากยิ่งขึ้น”
มีอะไรก็อยากให้ความช่วยเหลืออยากให้ความร่วมมือ หลายครั้งตนก็เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับทางโรงเรียนและช่วยดูแลเด็กๆเหมือนลูกเหมือนหลาน ตนเห็นว่าการที่โรงเรียนเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษามาเป็นแบบนี้ทำให้ลูกๆของตนเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น อย่างลูกคนโตที่ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนอื่นก็สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ดี พอมีอะไรก็จะคอยเข้ามาปรึกษาแม่ตลอด
คุณครูเกศฎา สุขเสน ผู้ดูแลระดับชั้นอนุบาลได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมระหว่างครอบครัวกับโรงเรียนว่ามีการช่วยเหลือเกื้อกูลและพูดคุยปรึกษากันอยู่ตลอดอย่างเช่นตอนที่ผู้ปกครองมารับ-ส่งลูกหลาน หรือตอนที่ไปเยี่ยมบ้าน เป็นต้น ครูเกศฎาบอกเพิ่มเติมว่าผู้ปกครองเขาอาจจะมีความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เราก็ขอความรู้จากเขา เช่น เชิญเขามาสอนทำขนม เด็กๆก็จะสนุก ได้ฝึกทักษะ รวมทั้งสามารถอธิบายขั้นตอนการทำขนมนั้นได้ ทำให้เด็กๆมีพัฒนาการที่ดีในหลายๆด้าน และคุณครูก็จะทำการเก็บข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลและส่งต่อให้แก่ครูในระดับชั้นต่อไปผ่านกระบวนการ PLC ทำให้มีการดูแลที่ต่อเนื่อง “ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในยุคของผอ.คนนี้”
ครูวีระชัย สมพงษ์ผู้ซึ่งออกตัวว่าตนเคยเป็นหนึ่งในแกนนำต่อต้านผอ.ในช่วงแรกได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตนอยู่ที่โรงเรียนนี้มาเกือบสี่สิบปี
“เด็กที่จบไปสามารถทำ mindmap สรุปความคิดของตนได้ สามารถปรับตัวและทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆได้”
“เด็กเก่งก็ช่วยเด็กที่อ่อนกว่า เราเรียนแบบช่วยกันไม่ได้แข่งขันกัน แม้แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเพื่อนๆก็ช่วยกันดูแล”
“เด็กแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัดไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องให้เขาเรียนเก่งแบบเดียวกัน เขามีความสามารถด้านไหนเราก็ช่วยสนับสนุนเขา”
ครูวีระชัยบอกว่าเด็กบางคนชอบวาดรูป บางคนชอบร้องเพลง ใครมีแววด้านไหนทางโรงเรียนก็สนับสนุน จนบางคนได้รับรางวัลระดับประเทศ
ครูวีระชัยกล่าวเสริมว่าทุกๆคนล้วนมีความสามารถเพียงแต่ต้องการเวทีที่จะแสดงออก
“อย่างชาวบ้านที่เคยอยู่บ้านทำงานจักรสานธรรมดา แต่พอวันหนึ่งโรงเรียนพาเด็กๆไปเรียนรู้กับเขา เขาได้เป็นปราชญ์ชุมชน เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจนะ ส่วนเด็กนักเรียนที่ได้เห็นว่าคุณตาคุณยายของตนได้เป็นปราชญ์เป็นผู้รู้ก็พลอยรู้สึกภาคภูมิใจกับญาติของตนไปด้วย”
เรื่องราวที่ครูวีระชัยแบ่งปันให้ฟังทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่รั้วโรงเรียนแต่ยังโยงใยไปถึงครอบครัวและชุมชนด้วย
ด้วยหลักคิดและกระบวนการที่เหมาะสม และด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกๆคน ทำให้หกปีที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย หลักฐานการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจคือในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้มีศิษย์เก่ากลับมาร่วมพิธีไหว้ครูที่โรงเรียนด้วยตนเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากเจ้าตัวอยากกลับมาไหว้ครูผู้มีพระคุณของตน ปรากฏการณ์นี้ได้สะท้อนว่าสิ่งที่โรงเรียนมอบให้แก่นักเรียนเหล่านั้นได้หยั่งรากลงไปภายในจิตใจของพวกเขาจริงๆ
ผอ.กัมพลกล่าวว่าหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการแสดงความจริงใจอย่างต่อเนื่องของผู้ริเริ่มและต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในผู้คนในชุมชนนั้น บางทีต้องอาศัยการพูดคุยและรับฟัง บางทีต้องพาไปศึกษาดูงาน และบางทีต้องเปิดโอกาสให้ลองทำลองผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเอง เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นในใจแล้วความร่วมมือก็จะตามมา และเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนก็จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงในตัวทุกคน
จากข้อกังขาทั้งหมดที่เคยมี มาถึงวันนี้คงไม่มีใครสงสัยอีกแล้วว่า “โรงเรียนสุขภาวะ” ในแบบฉบับของทุ่งยาวคำโปรยนั้นเป็นอย่างไร
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : จิรวุฒิ พงษ์โสภณ
ภายใต้โครงการการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรม
การเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของครอบครัวในระบบการศึกษา บนฐานจิตวิทยาเชิงบวก
(FamSkool Project)
โดยการสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
0 responses on "“ทุ่งยาวคำโปรยโมเดล” การศึกษาที่ใช้ความสุขนำทางสู่ผลสัมฤทธิ์"